วันจันทร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2557

Reflective learning log (week 13)

วันนี้เราจะว่ากันด้วยเรื่องของการเขียนจดหมาย ในรูปแบบต่างๆ การเขียนจดหมายนั้น ไม่ใช่การเขียนข้อความถึงใครบางคน ใส่ซอง ติดแสตมป์ แล้วส่งไปรษณีย์ เท่านั้น แต่การเขียนจดหมายนั้นมีหลากหลายรูปแบบมากมาย สิ่งที่ได้เรียนในวันนี้ก็คือการเขียนจดหมายกิจธุระ , จดหมายธุรกิจ , จดหมายเปิดผนึก,และจดหมายราชการ ซึ่งอาจารย์ทำให้ได้เข้าใจและทำให้สามารถแยกแยะออกว่าการเขียนแบบนี้คือจดหมายประเภทไหน
จดหมายส่วนตัว  เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อระหว่างบุคคลที่คุ้นเคยกัน  อาจเป็นญาติสนิท  ครู  อาจารย์  เพื่อไต่ถามทุกข์สุขส่วนตัว  เล่าเรื่องราวที่พบเห็นมา  แสดงความเสียใจ  แสดงความยินดี  หรือขอบคุณ  หรือแจ้งกิจธุระบางอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกันระหว่างผู้ส่งกับผู้รับ
จดหมายกิจธุระ เป็น จดหมายที่เขียนไปเพื่อติดต่อสื่อสารกันระหว่างบุคคลหรือหน่วยงาน องค์กรต่าง ๆ  เพื่อแจ้งเรื่องการงานหรือเรื่องส่วนตัว  โดยต้องไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการค้า  จดหมายกิจธุระ  ได้แก่  จดหมายลาป่วย  จดหมายลากิจ  จดหมายขอความร่วมมือหรือขอความช่วยเหลือ  (การขอความอนุเคราะห์)  จากองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ
จดหมายเปิดผนึก เป็นจดหมายประเภทกิจธุระเขียนเผยแพร่ต่อสาธารณะชน สื่อมวลชน ซึ่งส่วนมากได้แก่หนังสือพิมพ์หรือวิทยุกระจายเสียง เผยแพร่สื่ออินเตอร์เน็ต เพื่อลงหรือประกาศข้อความในจดหมายให้ประชาชนทั่วไปทราบ ใจความของจดหมายชนิดนี้มีลักษณะเปิดเผยและเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเสนอแนะ แสดงความรู้สึก แถลงความจริง บอกกล่าว ขอความร่วมมือ ท้วงติง หรือร้องเรียน ข้อควรปฏิบัติหรือความไม่ถูกต้องบางอย่างแก่ทางราชการ ประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือประชาชนทั่วไป
จดหมายธุรกิจ เป็นจดหมายที่ใช้ติดต่อสื่อสารกันในวงการธุรกิจ โดยมีจุดประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งในการดำเนินธุรกิจระหว่างหน่วยงานหรือบุคคลธรรมดา จดหมายธุรกิจมีความแตกต่างจากจดหมายส่วนตัวบ้างในรูปแบบและการใช้ถ้อยคำภาษา คือ จะใช้เป็นทางการหรือค่อนข้างเป็นทางการ เช่น จดหมายเสนอขายสินค้าหรือบริการ จดหมายติดตามหนี้ จดหมายร้องเรียนเกี่ยวกับข้อผิดพลาดหรือเสียหาย
จดหมายราชการ เป็นจดหมายที่เขียนติดต่อกันระหว่างส่วนราชการต่าง ๆ หรือบุคคลเขียนไปถึงส่วนราชการ  หรือส่วนราชการมีไปถึงส่วนราชการด้วยกันเอง  ตลอดจนส่วนราชการนั้นเขียนจดหมายไปถึงตัวบุคคล  การเขียนจดหมายราชการต้องคำนึงถึงแบบของหนังสือราชการตามระเบียบงานสารบรรณด้วย  ข้อความในหนังสือดังกล่าวถือว่าเป็นหลักฐานทางราชการ  มีสภาพผูกมัดถาวร  ดังนั้นจึงควรเขียนให้กระจ่างและชัดเจน
เมื่อเราสามารถแยกประเภทของการเขียนจดหมายและนำไปปรับใช้ได้อย่างถูกต้องเรา เรายังได้รับความรู้ใหม่ ในเรื่องของการเขียนวันที่ในจดหมายว่าจะต้องเขียนจากกึ่งกลางหน้ากระดาษเป็นต้นไป และจะต้องใช้เลขไทยในการเขียนเท่านั้น และในเนื้อหาข้อความควรมีอย่างน้อย 2-3 ย่อหน้า ซึ่งในย่อหน้าแรกจะกล่าวถึงเหตุที่มีจดหมายไป ย่อหน้าถัดมาจะแจ้งความประสงค์ หรือรายละเอียด ซึ่งในเนื้อความของจดหมายจะมีย่อหน้าเดียวไม่ได้  ทั้งนี้ยังได้รู้ด้วยว่าการเขียนจดหมายธุรกิจแบบสากลได้แก่ การเขียนบล็อก (Full Block Style) ว่าจะมีความแตกต่างจากการเขียนจดหมายทุกประเภท เพราะการเขียนจดหมายประเภทนี้ ต้องเขียนติดริมฝั่งซ้ายของกระดาษ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ หรือชื่อที่อยู่ของผู้ส่งก็ตาม
  สุดท้ายอยากจะบอกว่าการเรียนในสัปดาห์นี้เป็นอะไรที่สนุกมากๆ การได้เริ่มต้นสัปดาห์ด้วยเสียงหัวเราะ ทำให้เราอยากเรียนและไม่เคยเบื่อหน่ายกับการเรียนวิชานี้ ขอบคุณอาจารย์ที่ทุ่มเทกับพวกเรานะค่ะ



นางสาว จิราพร โสตแก้ว
รหัส 55113400266 ตอนเรียน E1
                      


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น